อสังหาฯ ทรานฟอร์มครั้งใหญ่ แตกไลน์รับเมกะเทรนด์โลก
ซีบีอาร์อี ประเทศไทย คาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และแรงกดดัน จากความระมัดระวังของธนาคารในการปล่อยสินเชื่อ “ที่อยู่อาศัย” ให้คนไทย ตลอดห้วงปี 2566 จะทำให้การลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปีนี้ มีจุดเปลี่ยน โดยผู้พัฒนาที่ดิน นอกจากจะต้องเร่งหาแหล่งเงินร่วมลงทุนใหม่ๆ เพื่อรองรับความเสี่ยงแล้ว คาดปีนี้ ตลาดอื่น ๆ ก็จะได้รับความสนใจมากกว่าเดิม โดยเฉพาะ ตลาดอาคารสำนักงานและตลาดพื้นที่อุตสาหกรรม-โลจิสติกส์
เช่นเดียวกับ มุมมองของ Baramizi Lab ศูนย์วิจัยเทรนด์ และ คอนเซปต์แห่งอนาคต ที่สรุปความท้าทายและโอกาสของอุตสาหกรรม ว่าทั้งแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค เทรนด์โลก และกระแสตื่นตัวของภาคธุรกิจระดับโลก โดยมีเป้าหมาย แข่งกันเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น จะทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวอย่างหนัก ขณะอสังหาฯ อาจเจอกับปรากฎการณ์คนรุ่นใหม่ สนใจเช่า “ที่อยู่อาศัย” มากกว่าซื้อ แต่การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย-คนแก่ช้า-รักตัวเองมากขึ้น จะเป็นน่านน้ำใหม่ทางรายได้ ถ้าไม่อยากตกขบวน
“ฐานเศรษฐกิจ” เฝ้าติดตาม การเปิดแผนธุรกิจ วางยุทธศาสตร์การเติบโต ในระยะยาวของผู้พัฒนาฯกลุ่มที่อยู่อาศัยเบอร์ต้น พบ หลังผ่านพ้น “วิกฤติโควิด-19” ปี 2566 ถูกวางเป็นก้าวแรกที่มั่นคง ผ่านการทรานฟอร์มธุรกิจครั้งใหญ่ อย่างน่าจับตามอง ทั้งในรูปแบบกระจายการลงทุน เพิ่มเครื่องยนต์ปั้มรายได้ ดักทุกทางผู้บริโภค โดย 1 บริษัทมีการแตกแขนงธุรกิจ 5-10 กลุ่ม ครอบคลุมเมกะเทรนด์ ขณะมูลค่าของพอร์ตสูง ตั้งแต่ 5 หมื่น -1 แสนล้านบาท เพื่อแข่งกันเป็นอสังหาฯครบวงจร
“ออริจิ้น” กับเป้าหมายพอร์ตแสนล. เรียกว่าเป็นค่ายสุดท้าย ที่ประกาศแผนธุรกิจ อย่างยิ่งใหญ่ สำหรับ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) 14 ปีในวงการอสังหาฯไทย ไม่ได้หยุดแค่โปรเจ็กต์ที่อยู่อาศัย ที่จนถึงขนาดนี้ พัฒนามาแล้วร่วม 123 โครงการมูลค่า 1.85 แสนล้านบาท เป็นหนึ่งบริษัทที่โตเร็วและแรงมากที่สุด เป้าหมายการเติบโต ถูกต่อจิ๊กซอว์ ด้วยธุรกิจบ้านเดี่ยว ปี 2564 ดัน บมจ.บริทาเนีย เข้า ตลาดหลักทรัพยได้สำเร็จ ขณะปีก่อน บมจ.พรีโม เซอร์วิส โซลูชั่น ตามไปอีกราย
ในปีนี้ นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ออริจิ้น แม่ทัพใหญ่ ประกาศเส้นทางใหม่ สู่ WellBeing Lifetime Company หรือ องค์กรที่มีธุรกิจครอบคลุมการดูแลผู้บริโภคตลอดช่วงชีวิต นำร่อง 60 โปรเจ็กต์ มูลค่า 8 หมื่นล้านบาท หลากธุรกิจในเครือ โครงการบ้านและคอนโดฯ 42 โครงการ 5 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน จะเริ่มพัฒนาโครงการโรงแรม อาคารสำนักงาน และศูนย์การค้าใหม่ ในมือของ “วัน ออริจิ้น ” รวมถึงโครงการกลุ่มโลจิสติกส์และคลังสินค้า เพื่อเดินสู่เป้าหมายพื้นที่ 1 ล้านตร.ม.ในอนาคต ผ่านบริษัทลูก “แอลฟา อินดัสเทรียล” ที่จะถูกดันเข้าสู่ ตลท.เร็วๆนี้ เช่นกัน
จุดที่น่าสนใจ คือ นายพีระพงศ์ ระบุว่า ปีนี้ บริษัท ได้วางรากฐานเพิ่มอีก 1 หน่วยธุรกิจ กลุ่มเฮลธ์แคร์ ครอบ คลุมทั้ง คลินิกทันตกรรม คลินิกความงาม คลินิกสัตว์เลี้ยง คลินิกเส้นผม กระจายตัวไปพร้อมกับโครงการที่อยู่อาศัยและมิกซ์ยูส โดย ณ สิ้นปี 2566 จะมีสาขารวม 25 แห่ง ภายใต้เป้ารายได้ปีนี้ รวมทั้งเครือ 1.9 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ปัจจุบันขนาดธุรกิจของออริจิ้น อยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท ครึ่งทางของเป้าหมาย 1 แสนล้านบาทที่วางไว้ก่อนหน้า
“แม้ ออริจิ้น เป็นหนึ่งในผู้ชนะที่เกิดขึ้นจากโควิด แต่การเติบโตต้องยั่งยืน ท่ามกลางความอ่อนแอทางการเมืองอสังหาฯต่อยอดเฮลแคร์จะปั้นรายได้ให้ไทยและเป็นโอกาสของออริจิ้น ในอนาคตด้วย”
“เสนากรุ๊ป” เพิ่ม 12 ธุรกิจใหม่ เจาะ “Nursing Home” อีกหนึ่งบริษัทที่น่าจับตามอง หลังประกาศว่า จะไม่เป็นแค่ผู้พัฒนา “บ้าน” อีกต่อไป คือ บมจ.เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ ที่จนถึงขณะนี้ อยู่ในวงการคนขายบ้านมานานถึง 4 ทศวรรษ จากความตื่นตัว หวาดกลัว ของ แม่ทัพใหญ่ ”เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” ซึ่งระบุว่า ไม่มั่นใจอนาคตตลาดที่อยู่อาศัย ในระยะ 10-20 ปีข้างหน้า เมื่อชี้ว่า โลกกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อสูง อัตราดอกเบี้ยแพง เป้าหมายสิ่งแวดล้อม ยังท้าทายทางธุรกิจ ขณะต้นทุนเพิ่มต่อเนื่อง แต่รายได้คนไทย กลับโตไม่ทันราคาบ้าน จึงต้องการปรับสภาพธุรกิจ สร้างรากฐาน แบบ “Lifelong Trusted Partner” เกาะดีมานด์ทุกช่วงอายุของผู้บริโภค
เจาะกลยุทธ์เสนากำลังเร่งเครื่องขยายพอร์ตธุรกิจครอบคลุมมากถึง 12 กลุ่ม โดยปีนี้วางเม็ดเงินลงทุน 9,084 ล้านบาท ซึ่งล้วนแต่เป็นแผนต่อยอด เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลัก ขายบ้านและคอนโดฯ เช่น ธุรกิจบริการทางการเงิน “เงินสดใจดี” , ธุรกิจบ้านมือสอง “SENA SURE”, การพัฒนาแวร์เฮ้าส์ ให้เช่าแบบครบวงจร “METROBOX” และ บริการชาร์จรถไฟฟ้า ภายใต้บริษัทลูก เสนากรีน เอนเนอร์จี้ แต่ที่น่าสนใจ คือ ธุรกิจสถานดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะฟื้นตัว (Nursing Home)
โดยนางสาวเกษราระบุว่าอสังหาฯ อาจไม่โตเหมือนเดิม ก่อนหน้าบริษัทพัฒนาโครงการที่อยู่ฯ เจาะคนเจน Y, เจน Z แต่ยุทธศาสตร์ใหม่จะเป็นพาร์ทเนอร์ให้กับคนทุกวัย โดยเฉพาะเห็นโอกาสตลาดผู้สูงวัย ปีนี้จะนำร่องโปรเจ็กต์ย่านพระราม 9 เพื่อรองรับกับโอกาสใหม่ หลังจากคาด ระบบสาธารณสุขของไทย อาจรองรับไม่พอ กับจำนวนประชากรกลุ่มนี้ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันจะทำให้บริษัท มีทางไปมากขึ้น
“เสนา จะเปลี่ยนยุทธศาสตร์ธุรกิจ เมื่อก่อนขายบ้านอย่างเดียว แต่หลังจากนี้ จะพัฒนาธุรกิจไปพร้อมๆกับ เมกะเทรนด์ต่างๆ เพราะกลัวว่าหากในอนาคต ตลาดที่อยู่ไม่ได้ดีเท่าวันนี้ ปลาในบ่อน้อยลง คนตกปลาก็เก่งขึ้น แล้วเสนาจะเปลี่ยนผ่านธุรกิจได้อย่างไรไม่สะดุด ถ้าไม่เริ่มวันนี้”
“เอสซี” กับภารกิจเติบโตหลายเครื่องยนต์ เช่นเดียวกับกลุ่มทุนใหญ่ บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น กับเป้าหมายรายได้ 5 ปี (2566-2570) รวม 1.5 แสนล้านบาท ปีนี้ นอกจากจะบุกหนักเปิดโปรเจ็กต์ที่อยู่อาศัยด้วยมูลค่าสูงที่สุด 4 หมื่นล้านบาท 25 โครงการ แล้ว แผนลงทุนที่ดุดัน แบบเหนือชั้นนอกตลาดที่อยู่ ก็ถูกจับตามองไม่ต่างกัน
นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอสซี วางเม็ดเงินการลงทุนในระยะ 5 ปี ไม่ต่ำกว่า 1.2 แสนล้านบาท ด้วยรายได้แต่ละปีไม่ต่ำกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท เติบโต 16% ทั้งจาก โครงการเพื่อขาย และธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ ที่จะถูกให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม หลังจากออกสตาร์ท เปิดตัวโรงแรม YANH ราชวัตร รับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันเผยว่า จะมีแบรนด์โรงแรมใหม่ บนถนนสุขุมวิท 29 และปักหมุดที่ทำเลพัทยาอีก 1 โครงการ เพื่อไปให้ถึงเป้ารวมจำนวน 1,000 ห้องพัก นี่เป็นแค่หมากแรกที่วางไว้ หลังเห็นโอกาสจากภาคท่องเที่ยวไทย เพราะ เอสซี ยังเผยว่า พื้นที่อาคารสำนักงานให้เช่า ที่อยู่ในการครอบครอง 120,000 ตร.ม.จะถูกเติมในอนาคต และ รุกหนัก วางแผนขยายธุรกิจคลังสินค้า ให้เดิมครบ 1 ล้าน ตร.ม.ในปี 2573 เช่นกัน โดยมี Flash Express เป็นพาร์ทเนอร์สำคัญหลังชี้ดีมานด์โตแรง 90% รายใหญ่กินรวบ แต่ยังมีโอกาส
“โลกธุรกิจขณะนี้ไม่มีอะไรแน่นอน ต้องมีเครื่องยนต์ธุรกิจที่หลากหลาย 5 ปี กลุ่มธุรกิจรายได้ประจำจะขยับเป็นสัดส่วน 20% เพื่อสร้างความยั่งยืน โดย 20 ปีที่ดำเนินธุรกิจมา ผ่านหลายวิกฤติ ยิ่งต้องหาความยั่งยืน หากตลาดบ้านสะดุด ยังมีเครื่องยนต์อื่นๆรองรับ”
Reference: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ