อสังหาฯ ชี้เทรนด์ ซิลเวอร์เอจ มาแรง3ปี ซีเนียร์เรสซิเดนซ์ แข่งเดือด
บุษกร ภู่แส
กรุงเทพธุรกิจ
เมกะเทรนด์อนาคตทั่วโลกกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ ขณะที่ประเทศไทย ภายใน 3 ปีข้างหน้า “ซีเนียร์โซไซตี้” จะยิ่งฉายภาพชัดเจน เมื่อถึงเวลานั้น “ซีเนียร์เรสซิเดนซ์” หรือที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ จะมาแรงแซงทุกเซ็กเมนต์! ภายใต้กลุ่ม “ซิลเวอร์ เอจ” ที่มีกำลังซื้อสูง จะเข้ามาช่วย ปลุกตลาดอสังหาริมทรัพย์อีกแรง
ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าภาควิชา เคหะการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากผล การสำรวจ 20-30 ปีข้างหน้า (2583-2593) จะถึงจุดพีค! ที่กลุ่มผู้สูงอายุครองโลก มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 28% ก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งในประเทศไทยตั้งแต่ ปี 2566-2568 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า ผู้สูงวัย อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปจะมีสัดส่วน 14% และอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะมีสัดส่วน 20% หมายความว่าได้เข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว ยกตัวอย่างในสหรัฐที่แคลิฟอร์เนีย นิวยอร์ก หรือประเทศญี่ปุ่นในโตเกียว โอซาก้า เมื่อสังคมมีผู้สูงอายุมากขึ้น จำนวนเด็กน้อยลง และแรงงานลดลง จะส่งผลต่อความต้องการที่อยู่อาศัยเดิมๆ”ลดลง” ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ “หดตัว” สวนทางกับตลาด “ซีเนียร์ เฮาส์ซิ่ง”กลับเพิ่มขึ้น
ดังนั้นถึงเวลาที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ไทยควรหันกลับมาให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รองรับกลุ่มผู้สูงวัยที่มี แนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างจริงจัง แม้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 แพร่ระบาดหนัก กระทบอสังหาริมทรัพย์แทบทุกเซ็กเมนต์ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน แต่ยกเว้น “ซีเนียร์เฮาส์ซิ่ง” ทั้งนี้ตลาดที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.Independer Living รองรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรง ช่วยเหลือตัวเองได้ 2. Assisted Living เป็นกลุ่มที่มีบริการพื้นฐานการดูแลมา รองรับ 3.Memory Care กลุ่มผู้สูงวัย ที่มีปัญหาทางด้านสมอง ต้องการบริการ การดูแลอย่างใกล้ชิด และ 4.Skilled Nursing กลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการ บริการการดูแลระยะยาว
ปัจจุบันโครงการที่อยู่สำหรับ ผู้สูงอายุในประเทศไทย จะเน้นกลุ่ม ผู้สูงอายุที่แข็งแรง ขณะที่โครงการ ผู้สูงอายุที่ต้องการคนดูแลมีจำนวนน้อยมาก แต่ละโครงการจะบริการเฉพาะทาง ไม่ครอบคลุม แต่เชื่อว่าในปี 2568 เป็นต้นไป โครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อผู้สูงอายุ จะมีจำนวนมากขึ้นในหลากหลายรูปแบบ
สำหรับแนวทางการทำโครงการ ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ มีองค์ประกอบ 3 ข้อหลัก ข้อแรก ต้องเลือกเซ็กเมนต์ว่า จะจับกลุ่มลูกค้าชาวไทยหรือต่างชาติ กลุ่มที่ยังแข็งหรือต้องการการดูแล เพื่อนำมาสู่การออกแบบ เลือกทำเล พัฒนาโครงการและบริการให้เหมาะสมกับลูกค้า ข้อสอง เป็นเจ้าของหรือเช่าถือครอง ระยะยาว (Leasehold) และสุดท้าย ต้องมี พาร์ทเนอร์ ที่เป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ งานบริการอย่างเช่น โรงแรม รวมถึง กลุ่มสถาปนิก วิศวกร และดีเวลลอปเปอร์ต่างๆ เข้ามาสนับสนุน
พีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า แนวโน้มคนเกิดน้อยลง ทำให้ประเทศก้าวสู่สังคมสูงวัยเร็วขึ้น ในมุมมองของออริจิ้น เห็น “โอกาส” ตลาดซีเนียร์ลิฟวิ่ง ซีเนียร์เรสซิเดนซ์ ซึ่งปัจจุบันเรียกได้ว่า เป็น “ศูนย์” หรือ มีเพียง 1% เท่านั้น เนื่องจากตลาดมี ขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับยอดขายรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์เฉพาะในกรุงเทพฯ มูลค่าราว 4 แสนล้านบาท ดังนั้น 1% เท่ากับ 400 ล้านบาท นั่นหมายความว่าตลาดยังใหม่ คู่แข่งน้อย จึงน่าสนใจ แม้ว่า หลายคนจะ มองว่าตลาดผู้สูงอายุในประเทศไทยไม่ค่อยมีศักยภาพก็ตาม
“ออริจิ้น กลับมองว่า ผู้สูงวัย หรือซิลเวอร์ เอจ เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและกำลังซื้อ โดยเฉพาะกลุ่มคนโสดที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และไม่มีภาระ สมมติเงินเดือนประมาณ 40,000 บาท ไม่มีภาระ ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการ หากสามารถเพิ่มจาก 1% เป็น 20% ของ 4 แสนล้านบาท มูลค่าก็ขยับเป็น 80,000 ล้านบาท”
ล่าสุด บริษัท วัน ออริจิ้น จำกัด ในเครือออริจิ้น ได้เปิดตัว “ออริจิ้น เวลเนส เรสซิเดนซ์” ซึ่งเป็นโครงการคอนโดมิเนียมพักอาศัย พร้อมบริการเสริมสร้างสุขภาพ และดูแลคุณภาพชีวิตวัยเกษียณสำหรับผู้สูงวัยเป็นครั้งแรก รูปแบบเช่าถือครองระยะยาว 30 ปี รับเมกะเทรนด์สังคมผู้สูงวัยที่มีจำนวนมากขึ้น จากวิถีชีวิตของคนยุคใหม่มีอายุยืนยาวขึ้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น จำนวนประชากรเกิดน้อยลง จะเห็นว่า ผู้สูงอายุ 60-75 ปี ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะงานออนไลน์ หรือใช้ความรู้และประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษา ผู้ตรวจสอบ หรือแม่แต่การเป็นยูทูบเบอร์
“วันนี้เมื่อคนสูงวัยมีทางเลือกในการทำงาน หารายได้จากการใช้ประสบการณ์ในอดีตมาทำงานออนไลน์ได้ มีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วยให้พวกเขามีโอกาสต่างๆ เข้ามามากมายในการสร้างรายได้ คนกลุ่มนี้ ถือเป็นดีมานด์ใหม่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่น่าสนใจยิ่ง”
Reference: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ