สนข.ผุดแผนเรือโดยสาร 32 เส้นทาง เชื่อมปริมณฑลต่อรถไฟฟ้า 27 จุด

23 Feb 2021 788 0

          ผู้จัดการรายวัน360 - สนข.ศึกษาแผนแม่บท เรือโดยสาร (W-MAP) 32 เส้นทาง 492 กม. วางโครงข่ายเชื่อมรถไฟฟ้าจาก 12 จุดเป็น 27 จุด แผนแม่บท ดึงใช้ “ล้อ-ราง-เรือ” แก้จราจร สรุป พ.ย.ชง ครม. นำร่อง “คลองขุดมหาสวัสดิ์” เชื่อมสีแดง “ตลิ่งชัน”ิื

          นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 ว่า  สนข. ได้ดำเนินการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น (W-MAP) ลักษณะ ล้อ-ราง-เรือ และใช้

พลังงานไฟฟ้า เพื่อยกระดับการเดินทาง ทางน้ำ ให้ทางเลือกในการสัญจรและท่องเที่ยวตามนโยบายพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดย มีระยะเวลาศึกษา 14 เดือน (ก.ย. 63-พ.ย. 64) งบศึกษา 33 ล้านบาท โดยหลังสรุปการศึกษา จะเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป

          ซึ่งจะเปิดรับฟังข้อเสนอแนะ ปัญหาอุปสรรคจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชน เพื่อนำมาศึกษาวิเคราะห์กำหนดแผนให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมือง การพัฒนาระบบระบบขนส่งสาธารณะและเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อ รวมถึงแนวทางและรูปแบบในการพัฒนาปรับปรุงทางเชื่อมเข้าสู่ท่าเรือ ปรับปรุงพัฒนาตัวท่าเรือ ในรูปแบบเชิงพาณิชย์เพื่อตอบโจทย์ทั้งด้านความสะดวกสบายของผู้โดยสารและคุ้มค่าทางธุรกิจกรณีให้เอกชนเข้าลงทุน แบบ PPP เพื่อลดภาระงบประมาณของรัฐ

          ปัจจุบันมีเรือโดยสารสาธารณะให้บริการใน กทม.และปริมณฑล จำนวน 5 เส้นทาง 1. แม่น้ำเจ้าพระยา 2. คลองแสนแสบ 3. คลองผดุงกรุงเกษม 4. คลองภาษีเจริญ และ 5. คลองประเวศบุรีรมย์ (คลองพระโขนง) ระยะทางรวม 77 กม. โดยใน W-MAP จะศึกษาการเดินเรือเพิ่มในอีก 27 เส้นทาง รวมเป็น 32 เส้นทางระยะทางรวม  492.2 กม. ซึ่งจะมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าจาก 12 จุดในปัจจุบันเพิ่มอีก 15 จุดเป็น 27 จุด

          โดยปัจจุบันมีท่าเรือ 12 จุดที่เชื่อมกับรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้ว 14 สถานี คือรถไฟฟ้าสายสายสีน้ำเงิน จำนวน 10 สถานี ได้แก่สถานีอโศก สถานีหัวลำโพง สถานีบางไผ่ สถานีบางหว้า สถานีเพชรเกษม 48 สถานีภาษีเจริญ สถานีสะพานพระนั่งเกล้า สถานีบางโพ สถานีสนามไชย และสะพานตากสิน รถไฟฟ้าบีทีเอส (สายสีเขียว) จำนวน 2 สถานี ได้แก่ สถานีราชเทวี และสถานีบางหว้า, แอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 2 สถานี ได้แก่สถานีมักกะสัน สถานีรามคำแหง

          ทั้งนี้ จะมีการนำร่องเดินเรือโดยสารในคลองขุดมหาสวัสดิ์ ช่วงจากประตูน้ำฉิมพลีเข้ามา ประมาณ 8 กม. จะเชื่อมกับคลองบางกอกน้อยได้ และชื่อมต่อกับรถไฟสายสีแดงอ่อน ที่ตลิ่งชันและบางบำหรุ โดยเส้นทางนี้มีประชาชนที่อาศัยอยู่หนาแน่น และจะเดินทางเข้าเมืองจำนวนมาก หากพัฒนาเส้นทาง และท่าเรือให้ทันสมัยและปลอดภัย จะเป็นทางเลือกในการเดินทาง และจะลดความแออัด ถนนบรมราชชนนีได้ คาดว่าจะเริ่มได้ในปี 2565

          สำหรับจำนวนผู้โดยสารทางน้ำใน 5 เส้นทาง 77 กม. ในภาพรวมปี 2562 (ก่อน โควิด) มีประมาณ 2 แสนคน/วันหรือ 70 ล้านคน/ปี โดยแยกเป็นเรือด่วนเจ้าพระยา 13.3 ล้านคน เรือข้ามฟาก 33.9 ล้านคน เรือแสนแสบ 22.5 ล้านคน เรือคลองภาษีเจริญ 2.2 แสนคน เรือคลองผดุงฯ 9.6 หมื่นคน ส่วนปี 2563 เนื่องจากผลกระทบโควิดทำให้ ผู้โดยสารภาพรวมเหลือประมาณ 31 ล้านคน

          นาวาตรีเจริญพร เจริญธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด กล่าวว่า ขอเสนอโมเดลการเดินเรือโดยสาร โดยภาครัฐควรเป็นผู้ลงทุน เนื่องจากมีแหล่งเงินและจะควบคุมค่าโดยสารได้ ขณะที่เอกชนควรรับจ้างบริหารจัดการ เพราะมีความชำนาญมากกว่า แต่ทั้งนี้ ต้องศึกษาพฤติกรรมของประชาชน เพื่อประเมินปริมาณผู้โดยสารที่เหมาะสมด้วย ต้องเข้าใจว่า การขนส่งทางน้ำ เป็นทางเลือก ที่ผ่านมา มองว่า เปิดเทอมผู้โดยสารใช้เรือมาก ปิดเทอมใช้น้อย แต่ความจริงไม่ใช่พราะมีนักเรียนนักศึกษาใช้เรือมาก แต่เป็นเพราะเมื่อเปิดเทอม บนถนนรถติดคนหนีมาใช้เรือเดินทางแทน แต่เมื่อถนนโล่ง คนก็ไม่มาใช้เรือ ดังนั้น การศึกษาควรต้องดูถึงความต้องการของประชาชนจริงๆ.

 

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button