ส.คอนโดรุมค้านบัตรอีลิท แลกสิทธิ์ซื้อห้องชุด10ล้าน
สมาคมคอนโดฯรุมค้านโครงการ “Elite Flexible One” ยันขายคอนโดฯ พ่วงบัตรสมาชิก “ไทยแลนด์ อีลิท” ไม่ช่วยกระตุ้นภาคอสังหาฯ แจง ซื้อบัตร 5 แสนแลกวีซ่า 5 ปีไม่สมเหตุสมผลกับสถานการณ์ปัจจุบัน แนะรัฐให้วีซ่าทางตรงระยะยาว 5-10 ปีแบบไม่มีเงื่อนไข สร้างแรงจูงใจ พร้อมเพิ่มแต้มต่อด้านการแข่งขันดึงต่างชาติลงทุนในประเทศ
นายสมชัย สูงสว่าง บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ การ์ด จำกัด ผู้ดำเนินโครงการบัตรสมาชิกไทยแลนด์ อีลิท เปิดเผยว่า จากที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและหามาตรการนำกำลังซื้อจากต่างประเทศเข้ามาเติมกำลังซื้อในประเทศ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวจากผลกระทบโควิด-19 บริษัทจึงมีแนวคิดขายสิทธิประโยชน์บัตรสมาชิกไทยแลนด์ อีลิท รองรับกลุ่มนักลงทุนต่างชาติกำลังซื้อสูงผ่านโปรแกรม Elite Flexible One (ค่าสมาชิก 5 แสนบาท วีซ่า 5 ปี) โดยกำหนดให้สมาชิกบัตรต้องลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียมในประเทศไทยที่ก่อสร้างเสร็จพร้อมอยู่อาศัยมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (1 ม.ค. 2564-31 ธ.ค. 2565)
ชูอีลิทการ์ดกระตุ้นอสังหาฯ
โดยเปิดให้ผู้ประกอบการอสังหา ริมทรัพย์ที่สนใจเข้าร่วมโครงการทำบันทึกความเข้าใจในข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัทไทยแลนด์ พริวิเลจ การ์ด เพื่อนำโปรแกรมของไทยแลนด์ อีลิท เข้าร่วมในแพ็กเกจการขาย
“นอกจากโปรแกรม Elite Flexible One แล้ว ตอนนี้เรากำลังหารือกับอีกหลายภาคส่วนทำโปรแกรมที่เรียกว่า Elite Flexible Plus ได้วีซ่า 10 ปี โดยหลักการคือ ต้องลงทุนในไทย 1 ล้านเหรียญสหรัฐใน 5 หมวด คือ ซื้อคอนโดฯ, เปิดบริษัท, ซื้อพันธบัตร, เงินฝาก รวมถึง ลงทุนในหุ้น ซึ่งหลักการเบื้องต้นนี้ผ่านการพิจารณาจาก ศบศ.แล้ว รอข้อสรุปสุดท้ายเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ต่อไป ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นอีกโปรแกรมที่ช่วยกระตุ้นการลงทุนในประเทศ และช่วยผู้ประกอบการอสังหาฯในประเทศได้”
สมาคมคอนโดฯค้านอีลิทการ์ด
ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการบัตรสมาชิก “Elite Flexible One” ของไทยแลนด์ อีลิท การ์ดนั้น ตัวแทน 3 สมาคมวงการอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วยสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอาคารชุดไทย ได้แสดงความเห็นคัดค้านไปแล้วในที่ประชุมร่วมกับนายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและ รมว.กระทรวงพลังงานที่จัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ข้อเสนอหลักในการกระตุ้นอสังหาฯ ในส่วนของการดึงดูดกำลังซื้อลูกค้าชาวต่างชาติ คือ 1.โฟกัสกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูง ดังนั้นจึงเสนอให้เจาะฐานลูกค้าหรือนักลงทุนต่างชาติซื้อคอนโดมิเนียมในประเทศไทย ราคา 5-10 ล้านบาทขึ้นไป 2.รัฐพิจารณาให้วีซ่าระยะยาว 5-10 ปีโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ชาวต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนซื้อห้องชุดมากขึ้น
“สถานการณ์โควิดมีปัจจัยบวกที่รัฐบาลไทยได้รับเสียงชื่นชมยกย่องไปทั่วโลกว่าสามารถควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้ประเมินกันว่าหลังยุคโควิดจะมีดีมานด์ซื้อที่อยู่อาศัยทั้งเพื่อการพักผ่อนและซื้อเพื่อลงทุนจากลูกค้าต่างชาติทั่วโลก แต่ในเวลาเดียวกันวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำทุกคนเจอเหมือนกันหมด ทำให้ทุกประเทศมีการแข่งขันแย่งชิงลูกค้า โดยหนึ่งในนโยบายที่นำมาใช้คือการให้วีซ่าระยะยาวแลกกับการซื้ออสังหาฯ ในประเทศ ดังนั้น รัฐบาลไทยควรพิจารณาการให้วีซ่าชาวต่างชาติระยะยาว เพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันระดับประเทศด้วย”
ชำแหละจุดอ่อนเพียบ
แหล่งข่าวจากวงการที่อยู่อาศัย ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ประเด็นการให้วีซ่าพำนักระยะยาวในประเทศไทยสำหรับชาวต่างชาติ ถ้าต้องการให้มีประสิทธิภาพสูงสุดรัฐบาลต้องเปิดให้วีซ่าทางตรง กล่าวคือ กำหนดราคาอสังหาฯ เพื่อกำหนดกำลังซื้อของลูกค้า โดยเน้นชาวต่างชาติที่มีรายได้สูงเพราะต้องการให้มีการจับจ่ายใช้สอยในระหว่างพำนักในเมืองไทย เมื่อชาวต่างชาติซื้อห้องชุดในราคาที่กำหนด รัฐบาลก็ให้วีซ่าระยะยาว ได้โดยทันที
ประเด็นคือบัตรไทยแลนด์ อีลิท การ์ด เป็นการเปิดให้วีซ่าระยะยาวทางอ้อม เพราะหลังจากซื้อห้องชุด 10 ล้านบาทแล้ว ชาวต่างชาติจะต้องซื้อบัตร Elite Flexible One เพิ่ม มีค่าธรรมเนียม อีก 5 แสนบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนและเป็นภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ซื้อและผู้ขายโดยตรง
นอกจากนี้ เงื่อนไขมีความย้อนแย้ง เช่น มีเวลาดำเนินการถึง 2 ปี แต่ไทยแลนด์ อีลิทฯ ตั้งเป้ามียอดขายคอนโดฯเพียง 100 ยูนิต ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับสต๊อกห้องชุด 5-10 ล้านบาทที่มีอยู่ในตลาดมากกว่า 2 หมื่นยูนิต จนทำให้ วิพากษ์วิจารณ์กันว่าบัตร Elite Flexible One ไม่ได้ช่วยกระตุ้นอสังหาฯ แต่เป็นการช่วยกระตุ้นลูกค้าอีลิท การ์ดมากกว่า
โดยสถิติห้องชุดราคาเกิน 5 ล้านบาทขึ้นไป ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ REIC จัดทำรายงาน ณ ครึ่งปีแรก 2563 มีซัพพลายเหลือขายรวมกัน 21,479 ยูนิต มีมูลค่ารวมกันถึง 250,576 ล้านบาท เทียบกับเป้าระบายสต๊อกห้องชุดของบัตร Elite Flexible One จำนวน 100 ยูนิต มูลค่า 1,000 ล้านบาทภายในเวลา 2 ปี
“ปี 2563 สถานการณ์โควิดทำให้อสังหาฯแข่งขันสงครามราคาอย่างหนักหน่วง ผลประกอบการพลาดเป้ากันแทบทั้งตลาด นาทีนี้คงไม่มีใครสนใจจะทำโปรโมชั่นแจกบัตรอีลิทการ์ด 5 แสนแน่นอน แต่จะให้ต่างชาติซื้อคอนโดฯ 10 ล้านแล้วต้องซื้ออีลิทการ์ดอีก 5 แสน ไม่น่าจะกระตุ้นความสนใจอยากซื้อ เพราะลูกค้าเป้าหมายบัตรอีลิทการ์ดเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ลูกค้าเป้าหมาย ซื้อห้องชุดในเมืองไทยเป็นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ คนละกลุ่มลูกค้ากัน”
พฤกษาฯขอวีซ่าทางตรง
นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พฤกษาฯสนใจที่จะเข้าร่วมกับบัตร Elite Flexible One โดยมีสต๊อกห้องชุดราคา 5 ล้านบาทขึ้นไปที่พร้อมระบายผ่านโครงการนี้มูลค่าไม่น้อยกว่า 2,000-3,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม มีอุปสรรคเรื่องค่าใช้จ่าย ที่ลูกค้าต่างชาติจะต้องซื้อบัตรอีลิทการ์ดเพิ่มอีกต่างหาก 5 แสนบาท ซึ่งเป็นต้นทุน สูงมากในภาวะเศรษฐกิจฝีด ขณะเดียวกัน คอนโดฯมีปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย จนทำให้ มีการแข่งขันจัดแคมเปญโปรโมชั่นลด แลก แจก แถมอย่างรุนแรงอยู่แล้ว ดังนั้น การเพิ่มต้นทุนซื้อบัตร 5 แสนบาทเพื่อแลกกับวีซ่าระยะยาว 5 ปีจึงมองว่าอาจไม่สมเหตุสมผลกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
โดยพฤกษาฯมี 2 ข้อเสนอ คือ 1.ลูกค้าต่างชาติซื้อคอนโดฯราคา 5-10 ล้านบาท รัฐสนับสนุนให้แถมบัตร Elite Flexible One ฟรี ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม กับ 2.ลูกค้าต่างชาติซื้อคอนโดฯ ในราคาที่กำหนด รัฐให้วีซ่าระยะยาว 5-10 ปี โดยทันที วิธีการนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ช่องทาง ผ่านบัตรอีลิทการ์ดแต่อย่างใด
Reference: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ