รถไฟไฮสปีดตอกเข็มมี.ค.65 CPกู้แสนล้านเชื่อม สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา

28 Oct 2021 481 0

         ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินคืบหน้า ร.ฟ.ท.ส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภา ให้เอกชนแล้ว 98% มั่นใจที่เหลือส่งมอบครบภายใน ม.ค. 65 คาดเริ่มก่อสร้าง มี.ค. 65 เป็นต้นไป พร้อมทำสัญญาถ่ายโอนแอร์พอร์ตเรลลิงก์ให้เอกชนแล้ว

          นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ. (EEC) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ไฮสปีดเทรน) ว่า ขณะนี้โครงการอยู่ในช่วงของการส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิถึงอู่ตะเภาให้บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด (ในเครือเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง) เอกชน คู่สัญญา ที่ดำเนินการแล้ว 98.11% ระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร คิดเป็น พื้นที่ 3,513 ไร่ 1 งาน 3 ตารางวา จากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยเอกชนคู่สัญญาได้ทยอยเข้าเตรียมการก่อสร้างแล้วตั้งแต่ปลายปี 2563 โดย ร.ฟ.ท.จะส่งมอบพื้นที่ที่เหลืออีก 1.89% ภายในเดือน ม.ค. 2565และเมื่อเอกชนคู่สัญญาตรวจรับพื้นที่ แล้วเสร็จ ร.ฟ.ท.จะออกหนังสือแจ้ง เริ่มงานก่อสร้างอย่างเป็นทางการ (notice to proceed, NTP) คาดว่าประมาณเดือน มี.ค. 2565

          ปัจจุบันยังไม่ถึงขั้นตอนที่เอกชน คู่สัญญาต้องได้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพราะสัญญาร่วมลงทุนกำหนดว่าให้ เอกชนคู่สัญญาทำสัญญาสินเชื่อ โครงการกับสถาบันการเงิน (หรือสัญญาจัดหาเงินสนับสนุนสำหรับโครงการฯ) ภายใน 240 วัน นับจากวันที่ รฟท. ออก NTP ดังนั้นขั้นตอนการหาสินเชื่อจะแล้วเสร็จประมาณเดือนพฤศจิกายน 2565

          “เงินที่เอกชนจะกู้แบงก์เป็นการก่อสร้างจากสถานีสุวรรณภูมิไปอู่ตะเภา ซึ่งเท่าที่ทราบคือ ยังไม่ต้องรีบขอแบงก์ในตอนนี้ และกว่าจะขอได้คือเดือนพฤศจิกายน 2565 ต้องใช้เงินกู้ประมาณแสนกว่าล้านบาท เป็นงบการก่อสร้างจากลาดกระบังถึงอู่ตะเภา” นายคณิศกล่าว

          ส่วนกรณีเอกชนเข้ารับดำเนินการแอร์พอร์ตลิงก์ จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้โดยสารลดลงจากประมาณ 7-8 หมื่นคน/วัน เหลือเพียง 1-2 หมื่นคน/วัน เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่คาดการณ์มาก่อน ซึ่ง ร.ฟ.ท.รับขาดทุนมาโดยตลอด และต้องให้มีการถ่ายโอนการดำเนินการตามกำหนด จึงไม่จัดเตรียมงบประมาณไว้ล่วงหน้า ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) จึงให้หาทางแก้ไขโดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้โดยสาร โดยเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.และเอกชนคู่สัญญา ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อให้บริหารสัญญาร่วมลงทุน ในการแก้ไขปัญหาโครงการ เนื่องจากผลกระทบ โควิด-19 เพื่อให้เอกชนเข้ารับดำเนินการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และให้มีบริการได้อย่างต่อเนื่อง และเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนการเข้ารับดำเนินการเอกชนได้ลงทุนไปแล้วกว่า 1,100 ล้านบาท ในการดำเนินการปรับปรุงระบบและบริการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ รวมถึงฝิกอบรมพนักงาน

          นอกจากนี้ ในวันที่ลงนามบันทึกข้อตกลง เอกชนคู่สัญญาได้ชำระเงิน 1,067.11 ล้านบาท คิดเป็น 10% ของสิทธิร่วมลงทุนในแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (10,671.09 ล้านบาท) ให้แก่ ร.ฟ.ท. เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะดำเนินการอย่างเคร่งครัดตามบันทึกข้อตกลง โดยบันทึกข้อตกลงนี้มีระยะเวลา 3 เดือน เป็นการเจรจาหาทางออกร่วมกัน โดยรัฐต้องไม่เสียประโยชน์ และเป็นธรรมกับเอกชน โดยการเจรจาจะดำเนินการโดยคณะทำงานที่แต่งตั้งโดย ร.ฟ.ท. และคณะกรรมการกำกับเพื่อนำเสนอ ร.ฟ.ท. กพอ. และ ครม.ต่อไป พร้อมกันนี้เอกชนได้เสนอการลงทุนพัฒนาแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เป็นเงินไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท ในการจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

          “กรณีโควิด-19 ซึ่งอาจเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจคาดการณ์มาก่อน เพราะรัฐบาลออกมาตรการกำหนดให้ธุรกิจ และประชาชนหยุดการเดินทางเป็นระยะ ๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากการระบาดของ โควิด-19 ซึ่งทำให้จำนวนผู้โดยสารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ลดลงเป็นจำนวนมาก นำไป สู่การเจรจาเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด โดย ไม่มีฝ่ายใดเสียเปรียบ” นายคณิศย้ำ

 

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button