ภาษีที่ดินถล่มซ้ำอสังหา 3สมาคมชงรัฐบาลผ่อนปรน
“อสังหาฯ อ่วมเจอจ่ายภาษีซ้ำซ้อนบนที่ดินแปลงเดียว ตั้งแต่เตรียมพัฒนายันกลายเป็นสต๊อก ไล่ตั้งแต่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ธุรกิจเฉพาะ ค่าธรรมเนียมการโอน ภาษีเงินได้ ล่าสุดภาษีที่ดิน ถล่มซ้ำ 3 สมาคมบ้านฯ เดินหน้าชงรัฐบาลช่วยผ่อนปรน”
กรณีกระทรวงการคลังมีคำสั่งจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราเต็ม 100% ปี 2565 แม้เป็นผลดีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีรายได้มากขึ้นลดการพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาล แต่มองว่าภาคธุรกิจอสังหา ริมทรัพย์จะมีภาระก้อนใหญ่จากภาษีที่ดินถล่มซ้ำมีต้นทุนเพิ่มขึ้นทันที 90% ทั้งที่ยังบอบซ้ำจากปัจจัยลบเศรษฐกิจถดถอย การระบาดโควิด วิกฤติสงครามระหว่างรัสเซียยูเครน ต้นทุนพลังงาน วัสดุก่อสร้างปรับตัวสูง
ย้อนไปก่อนหน้านี้ 3 สมาคมบ้าน ซึ่งประกอบด้วยสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมอาคารชุดไทย และสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ผลักดันผ่านสภาหอการค้าไทย ขอประวิงเวลาการชำระภาษีที่ดินในอัตราลดหย่อน 10% จนกว่าเศรษฐกิจจะพลิกฟื้น แต่คำตอบที่ได้รับกระทรวงการคลังกลับปฏิเสธ
ที่กระทบมากที่สุดเห็นจะเป็นสต๊อกสินค้าหรือที่อยู่อาศัยเหลือขาย จากการขายที่ค่อนข้างช้า ในช่วงโควิดเมื่อปิดการขายไม่ทันตามเกณฑ์ที่กฎหมายผ่อนผัน กล่าวคือ ต้องขายให้หมดปิดโครงการภายใน 3 ปีนับจากได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง กรณีคอนโด มิเนียมการก่อสร้างต้องใช้เวลาเกือบ 3 ปี หากขายไม่ทัน จำนวนหน่วยที่เหลือจะเปลี่ยนเป็นการชำระภาษีในอัตราอื่นๆ (พาณิชย์) ทันที ซึ่งกลายเป็นภาระของผู้ประกอบการ ที่ต้องชำระภาษีที่ดินในระหว่างทาง และในที่สุดภาระที่เกิดขึ้นจะถูกผลักไปสู่ผู้บริโภค
นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้องชำระภาษีระหว่างพัฒนาโครงการอยู่ก่อนแล้วหลายรายการ เมื่อมีภาษีที่ดินเข้ามามองว่าเป็นลักษณะการเสียภาษีที่ซ้ำซ้อนบนที่ดินแปลงเดียว นับตั้งแต่ซื้อที่ดินรอพัฒนา การจ้างออกแบบ ซื้อสินค้าวัสดุก่อสร้าง ล้วนต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% เมื่อก่อสร้างเสร็จและอยู่ในขั้นตอนการขายผู้ประกอบการต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 3.3% ในกรณีที่ขายที่อยู่อาศัยได้ในแต่ละหน่วยและมาถึงการโอนกรรมสิทธิ์ต้องชำระค่าธรรมเนียมการโอน 2% และเมื่อสินค้าขายไม่หมดสิ่งที่ตามมาคือภาษีที่ดิน
อย่างไรก็ตาม มองว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจะเป็นผู้ประกอบการอสังหาฯทั้งการพัฒนาที่อยู่อาศัยและส่วนของธุรกิจโรงแรม โดยอยากให้รัฐบาลเห็นใจผ่อนปรนลดหย่อนอัตราภาษีที่ดินเหลือ 10% ต่อไปอีกระยะ
นอกจากนี้ยังต้องการให้รัฐบาลแยกที่ดินที่ต้องเสียภาษีที่ดินออกเป็นสองส่วน ได้แก่ กลุ่มแรกที่ดินสำหรับเก็งกำไร, ที่ดินมรดกของคนรวยที่ไม่เดือดร้อน ซึ่งปัจจุบันได้ลงทุนทำสวนเกษตรปลูกกล้วย มะนาว กลางเมือง ทั้งสีลม รัชดาภิเษก ฯลฯ ประเด็นนี้รัฐควรพิจารณาเรียกเก็บภาษีให้จริงจัง ในขณะกลุ่มที่สองคือกลุ่มซื้อที่ดินมาผลิตสินค้าเพื่อผู้บริโภค ควรช่วยเหลือบรรเทา เพราะอาจกระทบในวงกว้างโดยเฉพาะผู้ซื้อ
สำหรับการใช้จ่ายงบประมาณของท้องถิ่น นายกสมาคมอาคารชุดไทยมองต่างมุมกับกระทรวงการคลังว่า ที่ผ่านมามักปรากฏโครงการที่ท้องถิ่นจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่าสูงเกินจริง บางโครงการลงทุนไปไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน อย่างเสาไฟส่องสว่างต้นละแสนบาทหรือเสาไฟกินนรีจังหวัดสมุทรปราการ และเริ่มมีระบาดให้เห็นทั่วประเทศเหล่านี้ถือว่ามีความจำเป็นใช่หรือไม่
นายมีศักดิ์ ชุนหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุว่า เร็วๆ นี้ สมาคมจะขอเจรจากับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อเรียกร้องประเด็นการเรียกเก็บภาษีที่ดิน เต็มอัตรา 100% อีกครั้ง เพราะจนถึงวันนี้ต้องยอมรับว่า ในหลายกรณี ผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับภาษีตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ได้ และไม่อยากให้รัฐต้องมานั่งไล่แก้ปัญหาย้อนหลัง เมื่อผลกระทบเกิดขึ้นแล้ว
โดยในรายละเอียดนั้น รัฐควรพิจารณาเป็นรายประเภท รายกรณีไป ว่าใครจ่ายไหว ใครจ่ายไม่ไหวในช่วงนี้ เช่น ภาษีประเภททรัพย์สิน ในกลุ่มโรงแรม ซึ่งขณะนี้หลายรายอยู่ในภาวะที่ไม่มีกำลังพอในการจ่ายแน่นอน และการจะบีบเรียกเก็บในอนาคต คงจะเกิดปัญหาไม่น้อย อีกส่วน คือ สต๊อกเหลือขายในกลุ่มโครงการบ้าน-คอนโดฯ เกิน 3 ปี ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก รัฐเองก็ไม่เคยลงมาเก็บตัวเลขอย่างชัดเจน ทำให้ไม่เห็นปัญหา ไม่เห็นถึงภาระภาษีที่ผู้ประกอบการจะต้องจ่าย จึงอยากเรียกร้องให้ทบทวน เนื่องจากเข้าใจดีว่า ปีนี้กระทรวงการคลัง คงไม่สามารถเลื่อนการจัดเก็บภาษีได้แล้ว เนื่องจาก จำเป็นต้องใช้งบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่น
”โครงการที่เหลือขายเกิน 3 ปี 10 ปี มีเป็นจำนวนมาก ผู้ประกอบการเรียกว่า สินค้าค้างสต๊อก ฉะนั้น ไม่ควรมาเป็นภาระให้กับการทำธุรกิจที่ประสบปัญหาในการขายอยู่แล้ว แต่ตามกฎหมายภาษีที่ดินใหม่ จะถูกเรียกเก็บตามมูลค่า”
รายงานข่าวจากกรุงเทพ มหานคร (กทม.) ระบุว่ากทม.กำหนดเป้าการจัดเก็บรายได้จากภาษีที่ดินปี2565 ไว้ที่ 7,500 ล้านบาท หรือ 50% เข้าใจว่าเจ้าของที่ดินไม่สามารถชำระได้เต็ม 100% เพราะเศรษฐกิจยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
”ที่ผ่านมามักปรากฏโครงการที่ท้องถิ่นจัดซื้อจัดจ้างมีมูลค่าสูงเกินจริง”
Reference: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ