ปรับแผนอีก!แทรมขอนแก่นสร้างปี64

08 Jul 2020 800 0

          พลตรีชาติชาย ประดิษฐ์พงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ขอนแก่นทรานซิทซิสเต็ม จำกัด หรือ KKTS เปิดเผยว่าโครงการรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จ.ขอนแก่น ช่วงสำราญ-ท่าพระ วงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างจัดเตรียมเสนอรายงานทบทวนผลการศึกษาโครงการฯ ไปยังจังหวัดขอนแก่น เพื่อเสนอสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ก่อนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้เบื้องต้นผลการศึกษาปรับปรุงจากผลการศึกษาเดิมของ สนข. ในส่วนของศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ระยะทาง และจำนวนสถานี

          พลตรีชาติชาย กล่าวต่อว่า ผลการศึกษาเดิมกำหนดให้ศูนย์ซ่อมบำรุงอยู่บริเวณสถานีสำราญ แต่เมื่อมาพิจารณาการก่อสร้างแทรมขอนแก่นสาย อื่น ๆ อีกในอนาคต พบว่า จะมีจุดตัดทั้ง 4 สายบริเวณศูนย์วิจัยข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงต้องเปลี่ยนมาใช้จุดนี้แทน เพราะเป็นจุดที่เหมาะสมกับการสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงที่สุด ช่วยประหยัดงบประมาณ ไม่ต้องก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงขึ้นมาใหม่อีก นอกจากนี้ได้ปรับเพิ่มระยะทางจากเดิม 22.8 กิโลเมตร (กม.) เป็น 26 กม. และเพิ่มจำนวนสถานีจาก 16 สถานี เป็น 20 สถานี เนื่องจากมีแนวเส้นทางเพิ่มเข้าไปยัง ม.ขอนแก่น และศูนย์วิจัยข้าวฯ

          พลตรีชาติชาย กล่าวอีกว่า ในระหว่างที่ทบทวนผลการศึกษา ได้เริ่มขั้นตอนหาผู้รับเหมาคู่ขนานไปด้วย ซึ่งได้ครบทั้ง 3 สัญญาแล้ว โดยงาน KK-1 งานเหมาออกแบบ และก่อสร้างงานโยธา และโครงสร้าง พร้อมทั้งการผลิต ติดตั้งระบบแทรม และการพัฒนาเมือง ได้แก่ กิจการร่วมค้า ซีเคเคเอ็ม (CKKM Joint Venture), งาน KK-2 งาน จ้างเหมาปฏิบัติการเดินรถ บำรุงรักษา บริหารจัดการพื้นที่สถานี และการพัฒนาเมือง ได้แก่ นิติบุคคลร่วมทำงาน เคแอลอาร์ทีที (KLRTT Consortium) และงาน KK-3 งานจ้างที่ปรึกษาอิสระ ควบคุม รับรอง และการพัฒนาเมือง ได้แก่ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา WCE

          พลตรีชาติชาย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้โครงการยังเดินหน้าต่อ แต่ยังติดปัญหาเรื่องสินเชื่อที่ต้องเจรจากับสถาบันทางการเงินที่ประเทศจีน ที่ผ่านมาเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงยังไม่ได้หารือร่วมกัน ขณะเดียวกันเรื่องการเจรจาขอใช้ที่ดินของศูนย์วิจัยข้าว รวมถึงการขอใช้เขตทางจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่ได้ข้อสรุป จึงยอมรับว่าการดำเนินโครงการแทรมขอนแก่นต้องล่าช้าจากแผนเดิมที่วางไว้ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้เร็วที่สุดประมาณกลางปี 64 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการประมาณกลางปี 67 ถือว่าล่าช้าจากแผนเดิมที่จะก่อสร้างกลางปี 63 แล้วเสร็จและเปิดบริการปี 66.

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button