ปรับลดจีดีพี63ติดลบ9.4% จี้ช่วยSMEsเข้าถึงเงินทุน หวั่นต.ค.ตกงานล้านคน

04 Aug 2020 652 0

 

    

          ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจปรับลดจีดีพีปี 63 เป็นติดลบ 9.4% เหตุได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำเศรษฐกิจไทยเสียหายไปแล้วกว่า 2 ล้านล้านบาท จี้ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่เร่งออกมาตรการกระตุ้น เน้นการจ้างงานในท้องถิ่น เพื่อเพิ่มรายได้ให้ชุมชน และช่วยเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หากไม่ช่วย ต.ค.นี้ เห็นการปลดคนงานหลักล้านแน่ ทั้งปีไม่ต่ำกว่า 1.9 ล้านคน

          นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ศูนย์พยากรณ์ฯ ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ใหม่จากเดิมคาดการณ์ว่าจะติดลบ4.9% ถึงติดลบ 3.4% เป็นติดลบ 9.4% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 และอื่นๆ ทำให้เกิดความเสียหายเศรษฐกิจไทยไปแล้ว 2.098 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นผลจากมาตรการปิดเมืองที่กระทบต่อภาคท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ค้าปลีกค้าส่ง ขนส่ง และบันเทิง กว่า 1.5 ล้านล้านบาท ผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออก เกือบ 5 แสนล้านบาท และสถานการณ์ภัยแล้งอีก 7.6 หมื่นล้านบาท เป็นต้น

          “การปรับลดจีดีพีเหลือ 9.4% มาจากมูลค่าส่งออกไทยติดลบ 10.2% การบริโภคภาคเอกชน ติดลบ 2.6% การบริโภคภาครัฐบวก 4.5% การลงทุนรวมติดลบ 8% การนำเข้าติดลบ 19.5% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 7 ล้านคน ลดลง 82.3% และอัตราเงินเฟ้อติดลบ 1.5%”

          อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 คาดว่าจีดีพีจะติดลบ 15% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำสุดในประวัติศาสตร์และต่ำกว่าไตรมาสที่ 2 ของปี 2541 ซึ่งตรงกับวิกฤติต้มยำกุ้งที่จีดีพีติดลบ 12% ส่วนไตรมาสที่ 3 และ 4ของปีน่าจะค่อยๆ ดีขึ้น จากการมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลและการคลายล็อกเฟสต่างๆ

          นายธนวรรธน์กล่าวว่า นักวิชาการและภาคเอกชนต้องการให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ เร่งออกมาตรการเติมเพิ่มในการพยุงเศรษฐกิจ แต่ไม่ควรใช้รูปแบบในการแจกเงิน เหมือนการเยียวยาคนละ 5,000 บาท แต่ควรจะเป็นลักษณะการผลักดันให้ก่อให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น แม้ว่าผลงานที่ออกมาจะเกิดประสิทธิภาพที่ต่ำกว่าโครงการอื่นๆ แต่ผลที่ได้รับ จะทำให้ประชาชนมีรายได้ในรูปแบบการทำงาน และทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นหลายๆ รอบ

          นอกจากนี้ ต้องเร่งผ่อนคลายให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) เข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพราะเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึง และหลายกรณีธนาคารพาณิชย์ต้องขอหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงอยากให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกัน เพราะหากไม่มีมาตรการของรัฐบาลมาเพิ่มเติม รวมถึงเอสเอ็มอีไม่มีสภาพคล่อง เชื่อว่าช่วงที่เหลือของปีต้องมีการปลดคนงานออก 1.9 ล้านคน โดยเฉพาะในเดือนต.ค.2563 จะเห็นการปลดคนในระดับหลักล้านคนแน่นอน แต่หากเอสเอ็มอีมีสภาพคล่อง ก็จะนำเงินมาจ่ายเป็นค่าจ้างพนักงาน และใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งจะช่วยประคองการจ้างงานได้ประมาณ 10 เดือน

          น.ส.อุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 เอสเอ็มอี 61.7% ได้รับผลกระทบมากถึงมากที่สุด รองลงมา 26.9% ได้รับผลกระทบปานกลาง และ 11.2% ได้รับผลกระทบน้อย ส่วน 0.2% ไม่ได้รับผลกระทบ โดยกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบมากถึงมากที่สุด พบว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 70% ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร สุขภาพ ความงาม อัญมณี และหัตกรรม ส่วนภาคบริการได้รับผลกระทบในระดับมากถึงมากที่สุด 71.1%

          ขณะเดียวกัน พบว่า เอสเอ็มอี 86.5% ยังไม่มีการเลิกจ้างงาน แต่ 13.5% บอกว่า มีการปลดคนงาน และเลิกจ้าง และโดยเฉลี่ยระบุว่า ในช่วงต่อไป หากยังไม่มีรายได้เข้ามา หรือเข้ามาน้อย จะสามารถประคองกิจการไปได้อีกเฉลี่ยประมาณ 6 เดือน สูงสุดไม่เกิน 9 เดือน ขณะที่ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ ระบุว่า จะประคองกิจการไปได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น

 

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button