'ซีอีโอ' อสังหาฯ มั่นใจทิศทางดอกเบี้ยขาลง

22 Apr 2024 155 0

    ในขณะที่ทิศทางดอกเบี้ยในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่างสหรัฐ ยุโรป จีน และอินเดีย มีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาสสอง และครึ่งหลัง 2567 นี้ ทำให้มีการจับตามองทิศทางดอกเบี้ยของประเทศไทยท่ามกลางกระแสกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนผู้มีายได้น้อย

    อภิชาติ เกษมกุลศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ให้มุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มและทิศทางอัตราดอกเบี้ยและผลกระทบกับภาคเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ของไทย ว่า อัตราดอกเบี้ยของไทย มีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะปรับลงอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2567 ครั้งละ 0.25% อยู่ที่ 2% จาก 2.5% ในปัจจุบัน

     ปัจจัยหนุนดอกเบี้ยขาลง

     บนความมั่นใจดอกเบี้ยไทยควรลดลงมาจากทิศทางดอกเบี้ยของประเทศคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งสหรัฐ จีน และยุโรป มีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (Fed) คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.25-5.5% ในการประชุมรอบล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และส่งสัญญาณจะลดดอกเบี้ยถ้าเงินเฟ้อของประเทศมีแนวโน้มลดลง เช่นเดียวกับธนาคารกลางของสหภาพยุโรปที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 4% ในการประชุมเมื่อเดือนมีนาคม และมีสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยเมื่ออัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง เช่นเดียวกับที่ประชุมของคณะกรรมการธนาคารกลางของประเทศอินเดีย ที่ยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 6.5% ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 และมีแนวโน้มจะปรับตัวลดลงช่วงครึ่งหลังปี 2567 ขณะที่ประเทศจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดีลง 0.25% จาก 4.2% อยู่ที่ 3.95% ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นที่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบยาวนานถึง 17 ปี มีการประกาศนโยบายดอกเบี้ยเป็นบวกเป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2567 โดยขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก ลบ 0.1% เป็น 0 ถึง 0.1%

    การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของประเทศคู่ค้าหลักของไทยสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางของดอกเบี้ยในตลาดโลก รวมทั้งประเทศไทยที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ช่วงที่ผ่านมาการปรับอัตราดอกเบี้ยของไทยจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับการปรับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ โดยปกติดอกเบี้ยไทยจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐเล็กน้อยเพื่อป้องกันเงินทุนไหลออก ยกเว้นช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐสูงกว่าของไทย ซึ่งเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงมากในประเทศสหรัฐอเมริกา และในกลุ่มสหภาพยุโรป เมื่อสถานการณ์เงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวลดลงทั่วโลก อัตราดอกเบี้ยก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงตาม รวมทั้งประเทศไทยในปัจจุบันที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงโดยเฉพาะเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่อัตราเงินเฟ้อติดลบจนหลายฝ่ายกังวลว่าอาจเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่

    ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่ติดลบส่วนหนึ่งของไทยมาจากนโยบายอุดหนุนราคาพลังงานจากภาครัฐ ที่กดให้ราคาพลังงานปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคาตลาด จากปัจจัยดังกล่าวทำให้เชื่อว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยในครั้งถัดไป จะคงดอกเบี้ยนโยบายและปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในที่สุด

    “เชื่อว่าในระยะยาวแล้วการดำเนินนโยบายการเงินของแต่ละประเทศจะมีอิสระมากขึ้น การปรับขึ้นหรือลดดอกเบี้ยจะเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ เหมือนทั่วโลกลดดอกเบี้ยแต่ญี่ปุ่นคงปรับขึ้นดอกเบี้ยเนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยหลังจากที่คงนโยบายดอกเบี้ยติดลบนานถึง 17 ปี” อภิชาติกล่าว

     ซีอีโอ แอล. พี. เอ็น. กล่าวต่อว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยมีนัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย และช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อย และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลดภาระต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายในการดำเนินธุรกิจ

     ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยเผชิญกับภาวะดอกเบี้ยสูงช่วงก่อนปี 2540 ดอกเบี้ยเงินฝากเคยสูงหลัก 10% ช่วงปี 2533 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยเติบโตที่ 11.2% ดอกเบี้ยสูงต่อเนื่องระหว่างปี 2534-2538 เป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยโต 8.1-8.9% ต่อปี แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 ดอกเบี้ยไทยปรับตัวลง โดยมีช่วงเวลาที่ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ต่ำยาวนานที่ 0.25% ระหว่างปี 2563 ถึงไตรมาสแรก 2566 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยติดลบ 6.1% ในปี 2563 เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเติบโตเล็กน้อยปี 2564-2566 ที่ 1.5% 2.6% และ 1.8% ตามลำดับ ก่อนที่ดอกเบี้ยจะปรับตัวช่วงไตรมาส 2/2566 เมื่อเกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น ทั่วโลกเกิดภาวะเงินเฟ้อสูงรวมทั้งไทย

     ”เราจะเห็นได้ว่าการปรับตัวสูงขึ้น หรือลดลงของอัตราดอกเบี้ยมักจะสอดคล้องกับภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อพูดถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ผมว่าการลดดอกเบี้ยจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งผมก็ไม่ทราบเหตุผลลึกๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทยว่ามีข้อมูลอะไรที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่ลดดอกเบี้ย แต่ถึงที่สุดแล้วผมเชื่อว่าต้องลดดอกเบี้ยลงมาแน่นอนอย่างน้อยปี 2567 นี้น่าจะลดลงมา 0.5% โดยลงครั้งละ 0.25% มาอยู่ที่ 2% ในช่วงสิ้นปี 2567” อภิชาติกล่าว

      หั่นดอกเบี้ยดีต่อศก.-ลงทุน

      อภิชาติเสริมว่า การลดดอกเบี้ยช่วยทำให้ภาคธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก สามารถลดต้นทุนทางการเงินได้ เพิ่มความสามารถในการทำกำไร และจ่ายผลตอบแทนกลับให้กับพนักงาน พันธมิตรทางธุรกิจ และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงลดราคาสินค้าลงมาได้ในทางอ้อม เมื่อต้นทุนลดลง ขณะเดียวกันภาคประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้จะลดภาระจ่ายชำระคืนหนี้ จะช่วยลดภาระหนี้ครัวเรือน ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 90.6% ต่อจีดีพี รวมถึงเพิ่มกำลังซื้อจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ เป็นการเพิ่มการบริโภคภายในประเทศ เป็นเครื่องมือหนึ่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ เมื่อดอกเบี้ยลดลงทำให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการลง ราคาบ้านก็มีแนวโน้มทรงตัว หรือเพิ่มขึ้นไม่มาก ความสามารถก่อหนี้และชำระคืนหนี้ของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นด้วย

     ”เราไม่ต้องไปกังวลกับผู้ฝาก หรือผู้ออมเงินที่จะได้รับผลตอบแทนดอกเบี้ยที่ลดลง เนื่องจากผู้ฝากในกลุ่มนี้มีทางเลือกลงทุนไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในพันธบัตร หุ้นกู้ทั้งภายในและต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูง ปัจจุบันดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ให้ผลตอบแทน 4-4.5% และไม่ได้ทำให้ผลประกอบการของสถาบันการเงินลดลง เนื่องจากปัจจุบันสถาบันการเงินมีรายได้จากด้านอื่นสูงกว่ารายได้จากดอกเบี้ย ทั้งการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน การให้บริการอื่นๆ ผมมองว่าการลดดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดี และเป็นประโยชน์กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ”

     สะท้อนจากข้อมูลทางการสิ้นเดือนมกราคม 2567 ระบุว่า มูลค่าเงินฝากในระบบสถาบันการเงินภายในประเทศรวมกิจการวิเทศธนกิจ รวม 15.93 ล้านล้านบาท จาก 129.23 ล้านบัญชี ในจำนวนนี้เป็นผู้มีเงินฝากบัญชีตั้งแต่ 1 ล้านบาท เป็นมูลค่า 12.51 ล้านล้านบาท จาก 1.95 ล้านบัญชี

 

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button