คอนโดสูงไม่เกิน8ชั้นเฮ สผ.ถอยเกณฑ์EIA บังแดด-บังลม 

27 Jun 2021 701 0

         ’พฤกษา’ ม้วนเสื่อคอนโดฯ 4-5 โครงการ

          สผ.ยอมถอยปลดล็อก ตึก8ชั้นยาวติดต่อกัน 60 เมตร ส่อแววถูกถอด ไม่อยู่ในเกณฑ์EIA บังแดด-บังลม หลัง  เอกชน 300 รายค้าน -ยื่นข้อเสนอ ผ่อนผัน ขณะตึกสูงเกิน 8 ชั้นยังอ่วม ตัดแค่ การนำเทคนิคอุโมงค์มาใช้ ออกไป

          เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แทบลุกเป็นไฟเมื่อสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)  ออก แนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือเกณฑ์รายงาน อีไอเอใหม่ ด้านการบดบังแสงอาทิตย์และด้านการเปลี่ยนแปลงของลมจากการก่อสร้างอาคาร สำหรับรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการอาคาร การจัดสรรที่ดินและบริเวณชุมชนเพื่อเตรียมประกาศใช้ มีเป้าหมายวันที่1มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ส่งผลให้ 3สมาคมฯซึ่งประกอบด้วย

          สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมอาคารชุดไทยและสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร มีหนังสือไปยังสผ. ขอให้ทบทวน และชะลอการบังคับใช้เกณฑ์ดังกล่าวออกไป เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะสร้างผลกระทบตามมาอย่างมาก โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่มักต้องจัดหาที่ดินกลางชุมชนแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ล้วนต้องพัฒนาเป็นโครงการขนาดใหญ่และมีความสูง ให้เหมาะสมกับศักยภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตามผังเมืองรวม และระดับราคา  โดยเฉพาะไส้ในสำคัญ ที่ต้องจัดเวทีรับฟังเสียงชาวชุมชน บริเวณที่ตั้งโครงการ หากบ้านเรือนหลังคาใด ได้รับผลกระทบประเมินแล้วอาจ อยู่ไม่สุขสบายเหมือนเดิม สามารถยื่นคัดค้านได้ โดยตรวจสอบได้จาก แบบจำลองเสมือนจริง หรือเทคโนโลยี 3D  ที่ผู้ประกอบการจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำขึ้น เพื่อดูทิศทางของเงา ตกสะท้อน ของพระอาทิตย์ อีกทั้งการบังทิศทาง ลมที่ต้องจัดทำควบคู่กันไป จึงสร้างความกังวล อย่างมากกับความเสี่ยง ที่จะเกิดขึ้นสำหรับดีเวลอปเปอร์

          เอกชน 300 รายค้าน

          “ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบการประชุม รับฟังความคิดเห็นวันที่18มิถุนายน ผ่านระบบออนไลน์ พบว่ามี บริษัทพัฒนาที่ดิน สถาปนิก บริษัทที่ปรึกษา หน่วยงานรัฐ เข้าร่วม กว่า 300 ราย

          ผลประชุมส่วนใหญ่เอกชนต้องการให้ผ่อนปรนเพราะธุรกิจอสังหาฯอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่สำคัญ ปมปัญหาใหญ่ที่ผู้ประกอบการคอนโดฯมักพบเจอคือ การเรียกร้อง ขอค่าชดเชยของชาวบ้านที่ไม่มีขอบเขตแน่ชัด ทางที่ดีควรกำหนดค่าชดเชยเป็นอัตราคล้ายการเวนคืนของรัฐ

          เช่นเดียวกับ เงื่อนเวลาของการเปิด-ปิดคำร้องคัดค้าน ยังไม่ชัดเจน เพราะ เจ้าของบ้านบางหลัง  มีเจตนา คัดค้านหลังผู้ประกอบการปิดรับข้อเสนอ เมื่อถึงขั้นตอนยื่นพิจารณาอีไอเอ คณะกรรมการผู้ชำนาญการมักฟังเสียงประชาชนมากกว่า

          ส่อแววตึก 8 ชั้นรอดอีไอเอ

          แหล่งข่าวจากสผ.ระบุว่า สผ. ผ่อนปรน โดย ถอดประเภทอาคารสูงไม่เกิน 8 ชั้นหรือไม่เกิน 23 เมตรขนาดความยาว 60 เมตรออกไปไม่อยู่ในข่ายต้องทำอีไอเอ ด้านการบดบังแสงพระอาทิตย์และทิศทางลม โดยให้คงเฉพาะอาคารสูงเกิน 8 ชั้นหรือ เกิน 23 เมตรขนาดความยาวติดต่อกันของตัวอาคาร 60 เมตรขึ้นไป พร้อมทั้งเตรียมรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆนำไปปรับปรุง

          ด้าน นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคม อาคารชุดไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สผ.เปิดกว้างพร้อมรับฟังข้อเสนอของภาคเอกชนโดยเปิดรับข้อทักท้วง เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์อีไอเอ สร้างอาคารบดบังแสงอาทิตย์และทิศทางลม  โดยเฉพาะอาคารสูงไม่เกิน 8 ชั้นหรือ ไม่เกิน 23 เมตร ขนาดความยาวติดต่อกันของตัวอาคาร 60 เมตร ส่อแววไม่อยู่ในเกณฑ์อีไอเอ บังแดด-บังลม รวมทั้งอาคารสูงเกิน 23 เมตร สผ.ได้พิจารณาตัดวิธี ทำอุโมงค์ลม ออกไป

          พร้อมกันนี้สมาคมฯ ได้เสนอให้กำหนดกรอบระยะเวลาให้ประชาชนในชุมชนเสนอความคิดเห็นยื่นร้องคัดค้านการก่อสร้างโครงการภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น 30 วัน เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นข้อพิพาทระหว่างชุมชนกับคอนโด มิเนียมและป้องกัน กลุ่มคนที่เห็นต่างรอจังหวะ คัดค้านในช่วงที่คณะกรรมการฯเตรียมพิจารณาอนุมัติอีไอเอ

          นอกจากนี้ ยังขอ ความชัดเจนของการชดเชย บ้านในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เป็นมาตราการออกมา

          นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยยืนยันว่า สผ. กำหนดเวลา 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายนให้ เอกชนเสนอความคิดเห็น นำไปแก้ไขทบทวน

          PS ถูกเบรก 5 โครงการ

          ด้าน นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพฤกษาเรียลเอสเตทจำกัด (มหาชน (PS) ยอมรับว่ากฎระเบียบต่างๆ ไม่ควรออกมา ในช่วงสถานการณ์โควิด เพราะหากมีการบังคับใช้เชื่อว่าการพัฒนาโครงการคงเกิดยากขึ้น และที่ผ่านมาพฤกษาไม่สามารถขึ้นคอนโดฯได้ 4-5 โครงการเพราะชุมชนคัดค้าน

          ชุมชนมีอำนาจ

          สอดรับกับแหล่งข่าวในแวดวงคอนโดมิเนียมที่ระบุว่า การพัฒนาเมืองเปลี่ยนแปลงไป มากในปัจจุบัน  ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร กำหนดให้โซนกลางเมืองขึ้นตึกสูงได้ค่อนข้างมาก ลดแออัด ดึงคนเข้าไปอยู่รวมกันบนตึกขนาดใหญ่พึ่งพาการเดินทางโดยรถไฟฟ้าดังนั้นรัฐควรกำหนดมาตรการสนับสนุนให้ชุมชนและคอนโดฯสามารถอยู่ร่วมกันได้ จะเหมาะสมกว่า

 

Reference:

Click icon to remove from or add to favorite list
Click to choose and click "Compare" button